Pitt, William, the Younger (1759-1806)

นายวิลเลียม พิตต์ (บุตร) (พ.ศ. ๒๓๐๒-๒๓๔๘)

 วิลเลียม พิตต์ (บุตร) เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ๒ สมัย ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๓-๑๘๐๑ และ ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๐๖ พิตต์เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดเมื่อเข้ารับตำแหน่งแต่ต้องนำประเทศผ่านมรสุมต่าง ๆ นับแต่การคลังที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน (American War of Independence) การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution, 1789)* สงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* แรงกดดันจากอาณานิคมสำคัญ ๆ ได้แก่ แคนาดา อินเดีย ไอร์แลนด์ และเสียงเรียกร้องจากภายในประเทศที่ให้ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ผลงานของพิตต์ผู้นับตนเองว่าเป็นนักการเมืองอิสระสายวิก (Whig) มีอิทธิพลต่อนักการเมืองรุ่นหลังในการสร้างแนวคิดทอรีใหม่ (New Toryism) และได้ส่งต่อไปยังพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ที่จัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมา

 พิตต์เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๕๙ ที่หมู่บ้านเฮส์ (Hayes) ในมณฑลเคนต์ (Kent) เป็นบุตรชายคนรอง และเป็นบุตรคนที่ ๔ ในหมู่พี่น้อง ๕ คนชองวิลเลียมพิตต์ เอิร์ลแห่งแชทัมที่ ๑ (William Pitt, 1ˢᵗ Earl of Chatham; William Pitt, the Elder) นายกรัฐมนตรี ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๖๖-๑๗๖๘ ซึ่งมีบทบาทสำคัญก่อนหน้าในสงครามเจ็ดปี (Seven Years’ War ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๖๓) ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส มารดาคือเลดีเฮสเตอร์ เกรนวิลล์ (Hester Grenville) น้องสาวของจอร์จ เกรนวิลล์ (George Grenville) นายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๗๖๓-๑๗๖๕ ในวัยเด็กบิดาจัดให้พิตต์เรียนหนังสือที่บ้านกับศาสนาจารย์เอดเวิร์ด วิลสัน (Edward Wilson) เพราะสุขภาพของเขาอ่อนแอและบิดาก็ไม่ชอบโรงเรียนแบบที่ลูกผู้ดีมีสกุลเรียนกันพิตต์เรียนรู้ภาษากรีกและละตินได้อย่างดีเมื่ออายุเพียง ๑๐ ปี ต่อมา เมื่ออายุ ๑๔ ปี พิตต์ซึ่งปราดเปรื่องและมีความเป็นผู้ใหญ่กว่าวัยก็เข้าศึกษาที่เพมโบรกฮอลล์ (Pembroke Hall ปัจจุบันคือ Pembroke College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เพื่อเรียนวิชาคลาสสิก คณิตศาสตร์ เคมี ประวัติศาสตร์ และปรัชญาการเมือง แต่ด้วยปัญหาสุขภาพ ดร.จอร์จ เพรตีแมน (George Pretyman) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการจึงให้ความดูแลอย่างใกล้ชิด ภายหลังพิตต์แต่งตั้งเขาให้เป็นบิชอปประจำเขตลิงคอล์น (Lincoln) และมอบเอกสารต่าง ๆ ให้ ซึ่งทำให้เพรดีแมนเป็นคนแรกที่แต่งชีวประวัติของพิตต์ นอกจากนี้ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พิตต์ก็ได้เพื่อนใหม่คนหนึ่ง คือ วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ (William Wilberforce)* ซึ่งต่อมาเป็นนักการเมืองที่รณรงค์ให้เลิกการค้าทาส มิตรภาพของคนทั้งคู่ยืนยาวและเป็นพันธมิตรทางการเมืองไปตลอด ปัญหาสุขภาพเรื้อรังทำให้พิตต์ใช้สิทธิจากระบบอภิสิทธิ์เก่าแก่ที่ให้บุตรชายขุนนางจบหลักสูตรได้ใดยไม่ต้องผ่านการสอบใน ค.ศ. ๑๗๗๖ สองปีต่อมาเมื่อบิดาเสียชีวิตลง พิตต์พบว่าตนมีรายได้ไม่ถึง ๓๐๐ ปอนด์ต่อปี และทรัพย์สินส่วนใหญ่ของบิดาตกเป็นของจอห์น (John) ผู้เป็นพี่ชายตามกฎหมายการสืบทอดบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินที่มอบให้แก่บุตรชายคนโต พิตต์จึงไปเรียนกฎหมายและเป็นเนติบัณฑิตแห่งสำนักลิงคอล์น (Lincoln’s Inn) แม้จะประกอบอาชีพนักกฎหมาย แต่เขามีความสนใจด้านการเมืองและมีความสามารถในการใช้โวหารเพราะนอกจากจะมีความสนใจฟังการอภิปรายในสภาอยู่เนือง ๆ แล้ว บิดาก็เคยคาดหวังว่าวันหนึ่งพิตต์จะเป็นสมาชิกสภาและฝึกฝนให้เรียนรู้การเป็นนักพูดที่ทรงพลังมาตั้งแต่เด็กเมื่อบิดาอภิปรายในสภาขุนนางครั้งสุดท้ายในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๗๘ และเกิดอาการล้มพับลง พิตต์ก็ฟังอยู่ด้วยและเป็นผู้เข้าไปประคองบิดาออกจากห้องประชุมสภา

 ในการเลือกตั้งเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๘๐ ด้วยวัยที่ยังน้อย พิตต์จึงพลาดจากการได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่ความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่การเมืองทำให้ ๔ เดือนต่อมา ชาลส์ แมนเนอส์ ดุ๊กแห่งรัตแลนด์ที่ ๔ (Charles Manners, 4ᵗʰ Duke of Rutland) เพื่อนของพิตต์ที่เคมบริดจ์ก็ได้ช่วยให้เขาได้ที่นั่งในสภาจากการเลือกตั้งซ่อมโดยเป็นผู้แทนจากแอปเปิลบี (Appleby) ในคัมเบรีย (Cumbria) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งกระเป๋า (pocket borough) หรือเขตเลือกตั้งที่อยู่ใต้อิทธิพลของเจ้าที่ดินรายใหญ่ คือ เซอร์เจมส์ โลว์เทอร์ (James Lowther) การช่วยเหลือครั้งนี้มีเงื่อนไขว่าพิตต์ ควรลาออกเมื่อใดที่เขามีทัศนะแตกต่างกับผู้อุปถัมภ์เขาการเข้าสู่สภาทำให้พิตต์ได้พบกับวิลเบอร์ฟอร์ซซึ่งเป็นผู้แทนจากฮัลล์ (Hull) อีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นโอกาสให้บุคคลทั้งคู่สืบต่อมิตรภาพที่ถาวร ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๘๒ พิตต์ประสบความสำเร็จในการอภิปรายครั้งแรกในสภาอย่างมาก เฟรเดอริก นอร์ท เอิร์ลแห่งกิลฟอร์ดที่ ๒ (Frederick North, 2ᶰᵈ Earl of Guilford) นายกรัฐมนตรีถึงกับกล่าวชมว่าเป็นบทอภิปรายที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ได้เคยฟังมา แม้แต่ชาลส์ เจมส์ ฟอกซ์ (Charles James Fox)* นักการเมืองโดดเด่นสายวิกผู้ไม่เป็นที่สบพระอัธยาศัยของพระเจ้าจอร์จที่ ๓ (George III ค.ศ. ๑๗๖๐-๑๘๒๐)* ก็กล่าวชมเช่นกันว่าพิตต์หาใช่เศษไม้ที่หลุดออกจากท่อนไม้เก่าไม่ แต่เป็นตัวท่อนไม้เก่าเลยทีเดียว (It is not a chip off the old block, it is the old block itself.) เมื่อแรกเข้าสภา พิตต์ใกล้ชิดกับพวกวิกคนสำคัญ ๆ และเห็นด้วยกับการประณามรัฐบาลที่ยังคงรบกับสหรัฐอเมริกาเขาเห็นว่าลอร์ดนอร์ทควรทำความตกลงสันติภาพกับอดีตอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้ได้แล้ว

 เมื่อรัฐบาลของลอร์ดนอร์ทสิ้นสุดวาระลงใน ค.ศ. ๑๗๘๒ ชาลส์ วัตสัน-เวนต์เวิร์ท มาร์ควิสแห่งร็อกกิงแฮมที่ ๒ (Charles Watson-Wentworth, 2ᶰᵈ Marquis of Rockingham) นักการเมืองสายวิกขึ้นดำรงตำแหน่งแทนพิตต์ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่สำคัญนักเขาจึงประกาศอย่างทรนงว่าไม่ประสงค์ที่จะรับตำแหน่งใด ๆ ที่ตํ่ากว่ารัฐมนตรี หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง ๓ เดือน ลอร์ดร็อกกิงแฮมถึงแก่อสัญกรรม วิลเลียม เพตดี เอิร์ลแห่งเชลเบิร์นที่ ๒ (William Petty, 2ᶰᵈ Earl of Shelburne) สืบตำแหน่งต่อ ขณะที่พวกวิกหลายคนที่เคยร่วมงานกับร็อกกิงแฮมอย่างเช่น ฟอกซ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธที่จะทำงานกับเชลเบิร์น แต่พิตต์ในวัย ๒๓ ปี ตกลงรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งทำให้ฟอกซ์ถือว่าเป็นการทรยศ นับจากนี้ ฟอกซ์กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพิตต์และทันไปร่วมมือกับลอร์ดนอร์ทโจมตีรัฐบาลของเชลเบิร์นจนต้องลาออก พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ไม่ทรงประสงค์ให้ฟอกซ์และนอร์ทร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จึงทรงทาบทามพิตต์ให้จัดตั้งรัฐบาล แต่พิตต์เห็นว่าเวลายังไม่เหมาะสมเพราะเขายังขาดเสียงสนับสนุนในสภาสามัญอยู่มากพระเจ้าจอร์จที่ ๓ จึงจำต้องทรงยินยอมให้ฟอกซ์และนอร์ทตั้งรัฐบาลที่เชิดวิลเลียม คาเวนดีช-เบนทิงก์ ดุ๊กแห่งพอร์ต แลนด์ที่ ๓ (William Cavendish-Bentinck, 3ʳᵈ Duke of Portland) เป็นผู้นำ

 พิตต์ซึ่งกลายเป็นฝ่ายค้านประกาศว่าตนไม่สังกัดกลุ่มการเมืองใด ๆ เขาทันมาสนใจเรื่องการปฏิรูประบบการเลือกตั้งเพื่อให้ทอนการใช้อำนาจแทรกแซงของกษัตริย์ระบบราชูปถัมภ์ และการรับสินบนของบรรดารัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๓ พิตต์เสนอมาตรการป้องกันการรับสินบนในช่วงการเลือกตั้ง การเพิกถอนเขตเลือกตั้งเน่า (rotten borough) หรือเขตที่มีผู้แทนราษฎรที่มีสัดส่วนไม่เหมาะสม และการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาจากเขตลอนดอน แต่เขาไม่สนใจเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แม้ข้อเสนอของพิตต์พ่ายแพ้ด้วยคะแนน ๒๙๓ ต่อ ๑๔๙ แต่ก็ทำให้พวกหัวปฏิรูปหันมาให้ความสนใจพิตต์มากกว่าฟอกซ์ และเห็นว่าเขาเป็นผู้นำคนสำคัญในสภาสามัญ ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน พิตต์ต่อต้านร่างกฎหมายของฟอกซ์ว่าด้วยบริษัทอินเดียตะวันออก (India Bill) ที่ให้ถ่ายโอนอำนาจการบริหารและการควบคุม บริษัทแก่คณะกรรมการชุดหนึ่ง ฟอกซ์ขุ่นเคืองใจมากจึงตอบโต้ด้วยการดูแคลนความเยาว์วัยและความอ่อนประสบการณ์ของพิตต์ ทั้งกล่าวหาเขาว่ามีความทะเยอทะยานสูง พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงกังวลพระทัยมากเมื่อสภาสามัญผ่านร่างกฎหมายของฟอกซ์ จึงทรงข่มขู่สมาชิกสภาขุนนางที่เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวว่าจะถูกนับว่าเป็นศัตรูของพระองค์ ในที่สุดสภาขุนนางไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยคะแนนเสียง ๙๕ ต่อ ๗๖

 ในเดือนธันวาคมนั้นเอง รัฐบาลของดุ๊กแห่งพอร์ต แลนด์ลาออก พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะขอให้พิตต์จัดตั้งรัฐบาลอีกหลังจากที่ทรงเคยทาบทามเขามาแล้วถึง ๓ ครั้ง พิตต์ตกลงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๓ ขณะมีอายุเพียง ๒๔ ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่อังกฤษเคยมี เมื่อข่าวการรับตำแหน่งแพร่ออกไป ก็มีเสียงหัวเราะเย้ยหยันดังขึ้นในสภาสามัญ เกิดท่อนเพลงสั้น ๆ ที่ร้องกันอย่างเสียดสีในความหมายที่ว่า ประเทศต่าง ๆ จะหันมาจ้องมองอังกฤษ เพราะเป็นการยกประเทศให้อยู่ในกำมือของเด็กนักเรียนชาย (a sight to make all nations stand and stare: a kingdom trusted to a schoolboy’s care) แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าเป็นการแต่งตั้งชั่วคราวระหว่างการรอผู้มีอาวุโสกว่าพิตต์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และบางคนก็คาดเดาว่ารัฐบาลใหม่คงจะอยู่ไม่เกินเทศกาลคริสต์มาส แต่กลายเป็นว่าพิตต์ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ถึง ๑๗ ปี พิตต์ประสบปัญหาการหาบุคคลมาร่วมงานเขาเสนอตำแหน่งในรัฐบาลให้แก่ฟอกซ์ และพันธมิตรของเขาเพื่อลดกำลังของฝ่ายด้านแต่การที่พิตต์ปฏิเสธที่จะให้ลอร์ดนอร์ทเข้าร่วม ทำให้ความพยายาม ของเขาไม่บรรลุผล ในที่สุด คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วย บุคคล ๗ คน มีพิตต์คนเดียวเท่านั้นที่เป็นสมาชิกสภาสามัญรัฐบาลใหม่จึงตกเป็นฝ่ายตั้งรับทันทีและพ่ายแพ้เมื่อถูกยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ ๓๙ เสียงในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๘๔ แม้รัฐบาลจะถูกลงคะแนนให้พ่ายแพ้อีกหลายหน แต่พิตต์ก็ปฏิเสธที่จะทำตามธรรมเนียมที่ต้องนำคณะรัฐมนตรีลาออก เขายังคงได้รับการสนับสนุนจากพระประมุขซึ่งไม่ทรงเห็นชอบกับกลุ่มพันธมิตรนอร์ท-ฟอกซ์ และทรงแสดงชัดเจนว่าจะทรงสละราชย์มากกว่ายอมจำนนต่อการมีรัฐบาลผสมของฟอกซ์และนอร์ท พิตต์ยังได้เสียงสนับสนุนจากสภาขุนนางและจากชนบททั่วไปซึ่งมีการส่งคำร้องเห็นชอบการแต่งตั้งพิตต์ซึ่งทำให้สมาชิกสภาสามัญจากท้องถิ่นต่าง ๆ หลายคนเปลี่ยนมาสนับสนุนเขา เมื่อพิตต์เห็นว่าได้รับความนิยมจากเขตนอกเมือง ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๘๔ เขาจึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งปรากฏว่าฝ่ายของฟอกซ์จำนวน ๑๖๐ คนพ่ายแพ้ ส่วนพิตต์เองได้รับเลือกเป็นผู้แทนจากเขตมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

 เมื่อมีเสียงข้างมากในสภาสามัญสนับสนุนเขา ก็เสนอให้สภาผ่านมาตรการต่าง ๆ กฎหมายสำคัญ ฉบับแรกอาจเป็นพระราชบัญญัติอินเดีย ค.ศ. ๑๗๘๔ (India Act 1784) กฎหมายนี่เป็นการรวมอำนาจการปกครองของอังกฤษในอินเดียให้กระชับขึ้นเมื่ออังกฤษขยายดินแดนในครอบครองมากขึ้น รัฐบาลเห็นควรที่อินเดียจะอยู่ในความดูแลของรัฐบาลอังกฤษมากกว่าอยู่กับบริษัทอินเดียตะวันออกอย่างที่เป็นมา กฎหมายดังกล่าวสร้างกลไก ๒ ชั้นควบคุมการบริหารงานของบริษัทอินเดียตะวันออกโดยจัดตั้งคณะกรรมการควบคุม (Board of Control) ขึ้นโดยระบุว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นกรรมการด้วย ส่วนประธานคณะกรรมการอาจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ มีการตั้งข้าหลวงใหญ่สูงสุด (Governor-General Supreme) ที่มีอำนาจเหนือข้าหลวง (Governor) ที่บอมเบย์และมัทราส อำนาจของข้าหลวงใหญ่สูงสุดมีความชัดเจนมากขึ้น ๒ ปีต่อมาโดยการระบุของลอร์ด ซิดนีย์ (Lord Sydney) ผู้เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมและหลังจากที่บริษัทแต่งตั้งร้อยเอก ฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) เป็นข้าหลวงที่ปีนัง วอร์เรน เฮสติงส์ (Warren Hastings) เจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออกซึ่งเป็นข้าหลวงเบงกอลตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๗๓ และเป็นข้าหลวงใหญ่คนแรกก็เดินทางกลับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๘๕ หลังจากสามารถเสริมอำนาจอังกฤษในอินเดียให้แข็งแกร่งขึ้นแล้วแต่ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริต เฮสติงส์ถูกไต่สวนเพื่อให้ถอดถอนเขาจากตำแหน่งซึ่งดำเนินไปถึง ๗ ปี จนเฮสติงส์แทบสินเนื้อประดาตัว

 ในด้านการเมืองภายใน พิตต์ยังคงสนใจเรื่องการปฏิรูปรัฐสภา ใน ค.ศ. ๑๗๘๕ เขาเสนอร่างกฎหมายให้เพิกถอนเขตเลือกตั้งเน่า ๓๖ เขต และโอน ๗๒ ที่นั่งให้แก่เขตที่มีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาสามัญซึ่งเข้าใจว่าพิตต์ ไม่ได้กระตือรือร้นกับเรื่องนี้นัก พิตต์ยอมรับมติและเลิกล้มความคิดที่จะเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปรัฐสภาอีก ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาที่อังกฤษใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลจากสงครามการปฏิวัติของชาวอเมริกันจนมีหนี้สินประมาณ ๒๕๐ ล้านปอนด์ และสถานะทางการเงินของประเทศก็เสื่อมทรุดลง พิตต์จึงให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มอีกหลายประเภทเพื่อลดการเสียดุล ทั้งยังหาทางยับยั้งการลักลอบค้าของเถื่อนด้วยการลดภาษีขาเข้าที่เคยตั้งไว้สูงและปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้โดยปรับปรุงกลไกการตรวจสอบ ใน ค.ศ. ๑๗๘๖ พิตต์จัดตั้งกองทุนสะสมเพื่อการชำระหนี้ของรัฐ โดยกำหนดว่าในแต่ละปีจะนำรายได้ส่วนเกินที่ได้รับจากการเก็บภาษีชนิดใหม่ ๆ จำนวน ๑ ล้านปอนด์ เข้าไปสมทบในกองทุนเพื่อสะสมดอกเบี้ยในที่สุด เงินสะสมของกองทุนนี้ก็จะสามารถใช้ไถ่ถอนหนี้สินของรัฐได้ ซึ่งการอาจจะเป็นไปดังที่พิตต์วางแผนไว้หากอังกฤษไม่ต้องเข้าไปทำสงครามกับฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

 ในด้านนโยบายต่างประเทศ ใน ค.ศ. ๑๗๘๘ พิตต์นำอังกฤษเข้าเป็นพันธมิตรกับปรัสเซียและฮอลแลนด์โดยมุ่งหวังที่จะจำกัดอิทธิพลของฝรั่งเศส แต่กลายเป็นเพียงช่วยให้ปรัสเซียสนับสนุนอังกฤษในการกดดันสเปนให้เลิกล้มความคิดที่จะผูกขาดการค้าและการตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ในปีเดียวกันนี้อังกฤษต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์สำคัญเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงประชวรพระโรคพอรํไฟเรีย (porphyria) ซึ่งเกี่ยวกับความแปรปรวนในพระโลหิต ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระสติไม่สมบูรณ์แต่ทุกกลุ่มในสภาก็เห็นว่าเจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ (George, Prince of Wales) พระโอรสองค์โตเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการ เจ้าชายจอร์จทรง สนับสนุนฟอกซ์ ดังนั้น หากพระองค์ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ต้องทรงปลดพิตต์ออกแน่นอน แต่การที่รัฐสภาใช้เวลาหลายเดือนอภิปรายเกี่ยวกับช่องทางทางกฎหมายเกี่ยวกับการมีผู้สำเร็จราชการ พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ก็ทรงหายประชวรและกลับมีพระสติสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๘๙ หลังจากร่างกฎหมายว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Regency Bill) เพิ่งผ่านสภาสามัญ

 ผลการเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๗๙๐ ระบุว่ารัฐบาลได้เสียงข้างมาก พิตต์จึงยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปในปีต่อมา พิตต์เข้าไปจัดการแก้ปัญหาที่จักรวรรดิอังกฤษกำลังเผชิญ เรื่องแรกเกี่ยวกับอนาคตของแคนาดาซึ่งอังกฤษได้สิทธิครอบครองจากฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาปารีสภายหลังสิ้นสุดสงครามเจ็ดปี ใน ค.ศ. ๑๗๙๑ สภาจึงผ่านพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง ค.ศ. ๑๗๙๑ (Constitutional Act of 1791) แบ่งดินแดนควิเบก (Quebec) ออกเป็น ๒ ส่วน คือ อัปเปอร์ แคนาดา (Upper Canada) ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ และโลเวอร์แคนาดา (Lower Canada) ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส แต่นโยบายการต้านทานการขยายอิทธิพลของรัสเซียในยุโรปตะวันออกไม่เป็นผล เมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ (Catherine II ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖)* แห่งรัสเซียทรงต้องการคุมทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๑ พิตต์จึงยื่นคำขาดต่อรัสเซียให้คืนดินแดนต่าง ๆ ให้สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกี ยกเว้นแต่ดินแดนไครเมีย (Crimea) แต่นโยบายสนับสนุนตุรกีไม่เป็นที่พอใจของทั้งคณะรัฐมนตรีของพิตต์และของชาวอังกฤษนัก ในที่สุด พิตต์จึงต้องยินยอมถอนเรื่อง แต่เขายังเป็นบุคคลที่บริหารประเทศได้ถูกพระทัยพระประมุขอยู่ในปีต่อมา พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงแต่งตั้งให้พิตต์เป็นผู้บริหารซิงก์พอร์ต (Lord Warden of the Cinque Ports) ซึ่งเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์และทรงเสนอที่จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินแห่งการ์เตอร์ (Knighthood of the Garter) ด้วยแต่เขาปฏิเสธและทูลเสนอให้พระราชทานแก่จอห์น เอิร์ล แห่งแชทัมที่ ๒ (John, 2ᶰᵈ Earl of Chatham) ผู้เป็นพี่ชาย

 เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๗๘๙ รัฐบาลอังกฤษพยายามยึดนโยบายเป็นกลางให้นานที่สุดเพราะพิตต์ต้องการฟื้นความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่ประเทศและส่งเสริมการค้าโดยการหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งและการสงครามใด ๆ เป็นสำคัญ แต่เมื่อฝรั่งเศสออกกฤษฎีกาแห่งภราดรภาพ (Edict of Fraternity) ในปลาย ค.ศ. ๑๗๙๒ ซึ่งให้อำนาจกองทัพฝรั่งเศสละเมิดดินแดนเป็นกลางและประกาศว่าฝรั่งเศสจะให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปชาติใด ๆ ที่ประสงค์จะโค่นล้มกษัตริย์ของตนอีกทั้งประกาศสงครามต่ออังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๓ พิตต์จึงจำต้องนำอังกฤษเข้าสู่สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้าและอาณานิคมของอังกฤษ หาใช่ต้องการแทรกแซงการเมืองฝรั่งเศสเพื่อนำระบบกษัตริย์คืนมาไม่แม้ว่าเมื่อทราบข่าวการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI)* อังกฤษจะขับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสออกนอกประเทศทันทีและตัดสัมพันธ์ทางการทูต การประกาศสงครามของฝรั่งเศสทำให้พิตต์ต้องนำอังกฤษประกาศตอบและยุติการดำเนินนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกับยุโรปอังกฤษเข้าร่วมกับการจัดตั้งสหพันธมิตรครั้งที่ ๑ (First Coalition) กับรัสเซีย ออสเตรีย ปรัสเซีย ซาร์ดิเนีย สเปน โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และรัฐเยอรมันบางแห่ง และเมื่อพิตต์ทราบว่ามีการติดต่อระหว่างนักปฏิวัติในฝรั่งเศสกับพวกที่เสนอให้ปฏิรูประบบรัฐสภาของอังกฤษ พิตต์จึงเสนอกฎหมายระงับการใช้หมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล (Habeas Corpus) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาสามัญภายใน ๒๔ ชั่วโมง แม้ว่าฟอกซ์และพรรคพวกจะคัดค้านก็ตาม มีการจับกุมพวกที่เรียกร้องให้ปฏิรูปรัฐสภาด้วยฃัอหาปลุกปั่นให้บ้านเมืองวุ่นวาย ทอมัส เพน (Thomas Paine)* สามารถหลบหนีได้ทันขณะที่บางคนถูกควบคุมตัวและถูกข้อหาตามกฎหมายว่าด้วยพฤติกรรมกบฏ และยังมีผู้ถูกจับจากกฎหมายห้ามการชุมนุมเกินกว่า ๕๐ คนหากไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐอนุญาต (Treasonable Practices Act และ Seditious Meetings Act)

 ในช่วงแรกการสร้างระบบพันธมิตรก่อผลดี แต่ใน ค.ศ. ๑๗๙๔ อังกฤษและพันธมิตรพ่ายแพ้หลายครั้งการทำสงครามทำให้ต้องระดมทุนจำนวนมาก พิตต์จำต้องเพิ่มการเก็บภาษีและกู้ยืมเงินจำนวน ๑๘ ล้านปอนด์ ปัญหาการเงินถูกชํ้าเดิมเมื่อการเก็บเกี่ยวพืชเกษตรไม่ได้ผลในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๕ เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ ๓ เสด็จไปเปิดประชุมรัฐสภา มีเสียงโห่พระองค์และตะโกนว่า “ขนมปัง สันติภาพ และไม่เอาพิตต์” (Bread, Peace and no Pitt) จนทำให้พิตต์ตัดสินใจผ่านร่างกฎหมายที่ให้นิยามใหม่เกี่ยวกับการกบฏ ปัญหาการเงินที่ยืดเยื้อทำให้พิตต์หาทางตกลงสงบศึกกับฝรั่งเศส แต่ถูกฝรั่งเศสปฏิเสธในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ ทำให้พิตต์ต้องเก็บภาษีประเภทใหม่ ๆ อีก ได้แก่ ภาษีม้า ยาสูบ ใบชา นํ้าตาล และเหล้า ถึงกระนั้นงบประมาณของอังกฤษก็ยังขาดดุลอยู่ ๒๒ ล้านปอนด์ พิตต์ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ฝูงชนซึ่งโกรธแค้นจะเข้ามารุมทำร้ายหลายครั้งจนเขาต้องมีผู้อารักขาถืออาวุธคอยดูแลอยู่เนือง ๆ สุขภาพของเขาเริ่มมีปัญหาอีกและหนังสือพิมพ์ก็รายงานข่าวว่าเขาได้รับความกดดันจนประสาทเลีย พิตต์ตอบโต้ด้วยการออกกฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจรัฐกวดขันหนังสือพิมพ์ให้อยู่ในระเบียบ และแก้ไขปัญหาที่สงครามทำให้ทองคำสำรองลดลงมากด้วยการให้ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษออกธนบัตรแทนการจำยด้วยทองคำห้ามเอกชนแลกเปลี่ยนธนบัตรเป็นทองคำ ทอบัส เรกส์ (Thomas Raikes) เพื่อนของพิตต์ซึ่งเป็นพ่อค้าและผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติสั่งออกธนบัตรมูลค่า ๑ ปอนด์และ ๒ ปอนด์ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ พิตต์เสนอการเก็บภาษีรายได้แบบอัตราก้าวหน้าชนิดใหม่ซึ่งจะช่วยชดเชยรายรับจากภาษีทางอ้อมที่ลดลงเมื่อการค้าถูกกระทบจากการสงคราม เขาเชื่อว่าภาษีใหม่นี้จะทำให้รัฐได้เงิน ๑๐ ล้านปอนด์ แต่ปรากฏว่าใน ค.ศ. ๑๗๙๙ เก็บได้ ๖ ล้านเศษเท่านั้น

 การปฏิวัติฝรั่งเศสมีผลกระทบต่อไอร์แลนด์ที่เป็นอาณานิคมเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษด้วย ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๙๒ แล้วที่พิตต์เชื่อว่าการรวมไอร์แลนด์เข้ากับอังกฤษจะเป็นทางออกทางเดียวในการแก้ปัญหาการต่อต้านอังกฤษของไอร์แลนด์ และเมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏไอร์แลนด์ ใน ค.ศ. ๑๗๙๘ ซึ่งพวกชาตินิยมไอริชอาจเปิดทางให้ฝรั่งเศสใช้ไอร์แลนด์เป็นฐานในการบุกอังกฤษ ก็ยิ่งทำให้พิตต์เชื่อว่าการรวมกันเป็นวาระจำเป็นและรีบด่วน พิตต์จึงใช้วิธีการหลายอย่างให้รัฐสภาอังกฤษผ่านกฎหมายสหภาพ ค.ศ. ๑๘๐๐ (Act of Union 1800) รวมสองดินแดนให้อยู่ใต้สภาเดียวกันและให้สภาไอริชลงมติยุบตนเองโดยวิธีการติดสินบน จ่ายค่าชดเชย ให้ตำแหน่งราชการและบรรดาศักดิ์และให้คำมั่นที่เอื้อประโยชน์แก่สมาชิกสภาไอริช รอเบิร์ต สจวร์ต ไวส์เคานต์คาสเซิลเร (Robert Stewart, Viscount Castlereagh)* รัฐมนตรีดูแลไอร์แลนด์ที่พิตต์แต่งตั้งได้ให้สัญญากับชาวไอริชคาทอลิกว่า หลังการรวมประเทศอังกฤษจะให้ชาวคาทอลิกที่เป็นชนส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์ได้รับสิทธิทางกฎหมายเท่าเทียมกับชาวโปรเตสแตนต์ที่เป็นชนส่วนน้อย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (United Kingdom of Great Britain and Ireland) ขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๑ และในเดือนมิถุนายนต่อมา มีผู้แทนชาวไอริช ๑๐๐ คน เข้านั่งในสภาสามัญ อีก ๒๘ คนเข้านั่งในสภาขุนนางพร้อมกับนักบวชอีก ๔ รูป แต่แรงต้านทานทั้งจากในคณะรัฐมนตรีและโดยเฉพาะจากพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทำให้พิตต์ไม่สามารถทำให้สภาออกพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์คาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก (Catholic Emancipation Act)* การแก้ไขกฎหมายภาษีศาสนา (tithe) ที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวไอริช และการที่รัฐจะจ่ายเงินให้แก่นักบวชนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายนอกกระแสหลักต่าง ๆ เมื่อเขาทราบว่าพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงทาบทาม เฮนรี แอดดิงตัน (Henry Addington) เพื่อนของเขาให้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน พิตต์จึงลาออกในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๐๑ รวมทั้งลอร์ดคาสเซิลเรด้วย อย่างไรก็ดี พิตต์ก็คาดหวังว่าพระเจ้าจอร์จที่ ๓ อาจทรงเรียกตัวเขากลับมา แต่การไม่เป็นเช่นนั้น ลอร์ดโรสเบรี (Rosebery) ผู้แต่งชีวประวัติของพิตต์บันทึกว่า อัจฉริยะอย่างพิตต์ต้องจำนนต่อการเสียสติ เหตุการณ์เรื่องไอร์แลนด์นี้ทำให้พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงเครียดจนถึงขั้นเสียพระสติอีกครั้งพระองค์ยืนกรานว่าไม่อาจผิดคำปฏิญญาที่ทรงรับเป็นประมุขของประเทศที่นับถือนิกายอังกฤษ (Church of England) หรือนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) เท่านั้น หนึ่งเดือนต่อมา เมื่อพระองค์ทรงมีพระอาการปรกติแล้ว ทรงกล่าวหาว่าพิตต์เป็นต้นเหตุของการประชวรพิตต์จึงทูลสัญญาว่าจะไม่นำเรื่องนิกายโรมันคาทอลิกเสนอในรัชสมัยของพระองค์อีก และแอดดิงตันก็เริ่มการทำงานของรัฐบาลขุดใหม่

 แม้พิตต์จะสนับสนุนรัฐบาลของแอดดิงตัน แต่ในช่วง ค.ศ. ๑๘๐๒-๑๘๐๓ เขาเว้นว่างจากการเข้าร่วมประชุมสภาหลายเดือนและไปพำนักที่ปราสาทวอลเมอร์ (Walmer Castle) ซึ่งถือเป็นที่พักประจำตำแหน่งของผู้บริหาร (Lord Warden’s Residence) แห่งซิงก์พอร์ต ณ ที่นั้นพิตต์จัดตั้งกองกำลังอาสาประจำท้องถิ่นเพื่อป้องกันในกรณีที่ฝรั่งเศสบุก ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๓ แอดดิงตันก็เชิญพิตต์เข้าร่วมรัฐบาล แต่พิตต์แสดงชัดเจนว่าจะกลับไปก็ต่อเมื่อเป็นผู้นำรัฐบาลเท่านั้น และทันไปร่วมมือกับฝ่ายค้านวิพากษ์การบริหารของรัฐบาล สงครามกับฝรั่งเศสเกิดขึ้นอีกระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๓-๑๘๐๔ พิตต์โจมตีนโยบายการเงินของรัฐบาลและมาตรการของรัฐในการรับมือกับอันตรายเมื่อถูกข้าศึกบุก ในที่สุด แอดดิงตันลาออกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ เมื่อเห็นว่าเสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาลลดลงทุกทีและไม่อาจต้านฝ่ายค้านที่มีทั้งฟอกซ์และพิตต์ วันที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม พิตต์ก็ตอบตกลงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทั้ง ๆ ที่สุขภาพไม่ดีซึ่งอาจเป็นเพราะโรคพิษสุราเรื้อรังเขาแสดงความประสงค์ที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีคนจากหลายกลุ่ม แต่เขาจำต้องยอมรับข้อห้ามของพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ที่ไม่อนุญาตให้ฟอกซ์ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรี

 รัฐบาลชุดที่ ๒ ของพิตต์ช่วง ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๐๖ อ่อนแอกว่าชุดแรกเพราะกลุ่มของแอดดิงตันและกลุ่มที่เคยสนับสนุนเขาจำนวนมากหันไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ลอร์ดคาสเซิลเรยังคงรับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ในคณะรัฐมนตรีที่มีสมาชิก ๑๒ คนจึงมีพิตต์และคาสเซิลเร เท่านั้นที่เป็นสมาชิกสภาสามัญ เมื่อมีข่าวว่าฝรั่งเศสวางแผนจะบุกอังกฤษ พิตต์จึงรีบจัดตั้งสหพันธมิตรที่ ๓ (Third Coalition) ระหว่างอังกฤษ รัสเซีย สวีเดน และออสเตรียเพื่อผนึกกำลังกันต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ พลเรือเอก ฮอเรชีโอ เนลสัน ไวส์เคานต์เนลสันที่ ๑ (Horatio Nelson, 1ˢᵗ Viscount Nelson)* ก็นำชัยชนะงดงามมาสู่กลุ่มสหพันธมิตรในยุทธการที่ทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar)* แสดงให้เห็นแสนยานุภาพของกองทัพเรืออังกฤษที่เหนือกว่าฝรั่งเศส พิตต์ได้รับการสรรเสริญว่าเป็นผู้ทำให้ยุโรปรอดพัน (the savior of Europe) แต่เมื่อฝรั่งเศสโต้กลับจนรัสเซียและออสเตรียพ่ายแพ้ในยุทธการที่เมืองอุล์ม (Ulm) ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเองและที่เอาส์เทอร์ลิทซ์ (Austerlitz) ในเดือนธันวาคม สุขภาพของเขาทรุดลงทันทีจากความสะเทือนใจและการตรากตรำทำงานหนัก พฤติกรรมติดเหล้าองุ่น (port wine) ซึ่งเป็นเหล้าที่แรง และเข้าใจว่าพิตต์เริ่มดื่มจากการที่เขาได้รับคำแนะนำให้ดื่ม ๑ ขวด ต่อวันเพื่อสุขภาพ และต่อมากลายเป็นนักดื่มจัดในช่วงที่อังกฤษทำสงครามกับฝรั่งเศส อาการป่วยของพิตต์จึงเพียบหนักขึ้นทุกที เพื่อนบางคนต้องการบีบให้พิตต์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรักษาชีวิตเขาไว้ พระเจ้าจอร์จที่ ๓ เองก็ทรงมองหาบุคคลที่จะสืบตำแหน่งต่อจากเขา พิตต์กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายที่กิลด์ฮอลล์ (Guildhall) กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๐๕ ในที่สุดวิลเลียม พิตต์ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคตับ ที่พัตนีย์ฮีท (Putney Heath) กรุงลอนดอน ในวันที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๖ หลังจากที่เดินทางไปเมืองบาท (Bath) ด้วยความหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของเขาได้ ขณะอายุ ๔๖ ปี ศพของเขาฝังเคียงข้างบิดาที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ วิลเลียม วินดัม เกรนวิลล์ บารอนเกรนวิลล์ที่ ๑ (William Wyndham Grenville, 1ˢᵗ Baron Grenville) จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดต่อมาซึ่งมีชาลส์ เจมส์ ฟอกซ์ รวมอยู่ด้วย

 เป็นเวลาหลายปีที่พิตต์มีปัญหาหนี้สินส่วนตัวรุมเร้าแม้ว่าเขาเป็นผู้แก้ไขวิกฤตการณ์การเงินของประเทศเรื่อยมาในช่วงปลายของชีวิต นอกจากเพื่อนฝูงพยายามช่วยเหลือเขาโดยการรณรงค์หาเงินได้จำนวน ๑๒,๐๐๐ ปอนด์ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ เพื่อให้พิตต์พ้นจากภาวะเป็นหนี้ที่น่ากระอักกระอ่วนซึ่งเกิดจากการที่เขาหมกมุ่นกับงานการมากจนถูกบริวารรอบข้างลอบเอาเงินของเขาไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย พิตต์เองก็ต้องยอมขายบ้านของตนเพื่อใช้หนี้ เมื่อเขาเสียชีวิตสภาสามัญเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ในการอนุมัติเงินจำนวน ๔๐,๐๐๐ ปอนด์เพื่อใช้หนี้สินของพิตต์ มีการกล่าวว่าการมีหนี้สินก้อนใหญ่ทำให้พิตต์ไม่กล้าที่จะเปิดเผยความรู้สึกของเขาต่อเอลิเนอร์ อีเดน (Eleanor Eden) บุตรสาวของลอร์ดออกแลนด์ (Auckland) แต่บ้างก็ว่าพิตต์หวาดระแวงเรื่องการมีความแปรปรวนทางอารมณ์ในสมาชิกสกุลของเขาพิตต์จึงไม่สนใจจะสมรส เขาอยู่เป็นโสดตลอดชีวิตทั้ง ๆ ที่มีสตรีหลายคนสนใจที่จะรับพิตต์เป็นบุตรเขย เช่น ภรรยาของชาก เนแกร์ (Jacques Necker) เสนาบดีคลังของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เมื่อไม่สำเร็จ บุตรสาวของเธอก็เข้าพิธีสมรสกับเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำกรุงปารีสและเป็นมาดามเดอสตาเอล (De stäel) ผู้โด่งดังในวงวรรณกรรมและมีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูงของฝรั่งเศส พิตต์มีมิตรสหายไม่มากนัก สมาชิกสภาสามัญก็มักบ่นกันว่าเข้าไม่ถึงพิตต์เมื่อเขาลาออกจากตำแหน่งในสมัยแรกก็ไม่ค่อยมีใครพูดถึง กล่าวได้ว่าพิตต์ไม่ใช่บุคคลที่ชาวอังกฤษเลือกให้มาเป็นผู้นำ แต่เขาเป็นผู้ได้รับเลือกจากกษัตริย์ ดังนั้น เมื่อนโยบายเกี่ยวกับไอร์แลนด์ของเขาทำให้พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ไม่พอพระทัย เขาจึงต้องลาออก และการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ ๒ ก็เพราะพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงมีพระประสงค์เช่นนั้น รวมเวลาที่พิตต์บริหารประเทศทั้งสิ้น ๑๙ ปี แม้ว่าพิตต์จะมีเพื่อนไม่กี่ราย และไม่สามารถทำให้รัฐสภาผ่านกฎหมายสำคัญ ๆ ที่เขาสนับสนุน เช่น การยุติการค้าทาส การปฏิรูประบบการเลือกตั้ง การบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่คริสต์ศาสนิกชนคาทอลิก การปฏิรูปสังคมจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* การปรับปรุงกฎหมายอาญา การจัดระเบียบทัณฑสถานและการเปลี่ยนแปลงการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การสามารถนำประเทศฝ่าฟันช่วงวิกฤติเป็นเวลาหลายปีก็ทำให้เขาอยู่ในทำเนียบชื่อนายกรัฐมนตรีที่โดดเด่นของอังกฤษ มีการตั้งชื่อของสถานที่หลายแห่งตามเขา ยกเว้นนครพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) ในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา ซึ่งขนานนามตามชื่อบิดาของเขา.



คำตั้ง
Pitt, William, the Younger
คำเทียบ
นายวิลเลียม พิตต์ (บุตร)
คำสำคัญ
- กฎหมายสหภาพ ค.ศ. ๑๘๐๐
- กฤษฎีกาแห่งภราดรภาพ
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- เขตเลือกตั้งกระเป๋า
- เขตเลือกตั้งเน่า
- นิกายอังกฤษ
- นิกายแองกลิคัน
- เนแกร์, ชาก
- แนวคิดทอรีใหม่
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง ค.ศ. ๑๗๙๑
- พิตต์, วิลเลียม
- เพน, ทอมัส
- เพรตีแมน, จอร์จ
- ฟอกซ์, ชาลส์ เจมส์
- ยุทธการที่ทราฟัลการ์
- ยุทธการที่เมืองอุล์ม
- ร่างกฎหมายว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- โลว์เทอร์, เซอร์เจมส์
- ไลต์, ร้อยเอก ฟรานซิส
- วิลเบอร์ฟอร์ซ, วิลเลียม
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามเจ็ดปี
- สงครามนโปเลียน
- สนธิสัญญาปารีส
- สภาขุนนาง
- สภาสามัญ
- สหพันธมิตรครั้งที่ ๑
- อีเดน, เอลิเนอร์
- แอดดิงตัน, เฮนรี
- เฮสติงส์, วอร์เรน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1759-1806
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๐๒-๒๓๔๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-